วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สรุปสาระสำคัญ"เสียงกู่จากครูใหญ่"


          จากวีดีโอคลิปที่ได้รับชมนี้ ทำให้เห็นได้ว่า "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จก็มักจะอยู่ที่นั่น" กล่าวคือ เมื่อแรกเริ่มเดิมทีที่ครูใหญ่ได้เดินทางเข้ามาในหมู่ย้านแห่งนี้ ครูใหญ่ไม่ได้รับการต้อนรับหรือยอมรับจากชาวบ้านในหมู่บ้าน แต่ด้วยความที่ครูใหญ่มีภาวะผู้นำที่มุ่งพัฒนาการศึกษา ยังผลต่อประโยชน์แก่ผู้เรียนอย่างแท้จริง ในภายหลังครูใหญ่ท่านนี้จึงได้รับการยอมรับในที่สุด
          บุคลิกลักษณะของครูใหญ่ท่านนี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเครื่องแบบ นั่นแสดงถึงให้เห็นว่า "เครื่องแบบที่ใส่ ไม่ได้แสดงถึงภาวะความเป็นผู้นำ" แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อครูใหญ่ในเวลานี้คือการสร้าง "ศรัทธา" ให้เกิดขึ้น ผ่านรูปแบบกระบวนการให้ระยะเวลาและผลของการปฏิบัติงานเป็นเครื่องพิสูจน์ ดั่งคำพูดที่ว่า "ระยะทางพิสูจน์ม้า ระยะทางพิสูจน์คน"
          ข้อคิดหรือหลักการที่ได้รับจากการบริหารงานของครูใหญ่ สามารถอธิบายได้พิสังเขป ดังนี้

  1. ก่อนเริ่มกระบวนการปฏิบัติงานใดๆ เพื่อให้งานบรรลุตามวัตถุประสงค์ นั่นคือ การประชุม สร้างความเข้าใจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จากนั้นจึงร่วมกันวางแผนการดำเนินงานจัดการศึกษา ผ่านการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน เป็นต้น
  2. จากคำขวัญของครูใหญ่ที่ว่า "การทำงานหนักเป็นดอกไม้ของชีวิต" เปรียบเสมือน คำขวัญปลุกใจ เป็นวิสัยทัศน์ สร้างแรงจูงใจให้เกิดแรงขับเคลื่อน ด้วยการใช้ศาสตร์และศิลป์การจูงใจ ให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมกันปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด ด้วยความอดทน มุมานะและมีความพยายาม
  3. เป็นผู้นำต้องมีจิตใจที่เด็ดเดี่ยว มั่นคง และหนักแน่น โดยวิเคราะห์จากเหตุการณ์ที่ภรรยาของครูใหญ่ได้มาเยี่ยมที่โรงเรียน และได้เห็นสภาพความเป็นอยู่และการทำงาน ก็ได้พยายามพูดจาหว่านล้อมให้เลิกความตั้งใจเหล่านั้นเสีย แต่ครูใหญ่ก็ไม่ลดความพยายาม และความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ รวมถึงการศึกษาของหมู่บ้านแห่งนี้
  4. สร้างแรงจูงใจแก่เพื่อนร่วมงาน แม้ครูใหญ่จะมีนโยบายรับนักเรียนเพิ่ม แต่จำนวนครูยังมีเท่าเดิม เพียง 2 คน ก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะครูใหญ่มีการใช้ศาสตร์และศิลป์ในการใช้วาทศิลป์ สร้างแรงจูงใจและขวัญกำลังใจแก้ผู้ร่วมงานอยู่เสมอ ครูเหล่านี้จึงมีความสุขในการทำงานและก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างมาก
  5. "ความพยายามเป็นหนทางแห่งความสำเร็จ" ในการสร้างโรงเรียนนั้น ผู้ปกครองและชุมชน รวมถึงนักเรียนยังไม่เห็นความสำคัญ อีกทั้งยังไม่ให้การสนับสนุนหรือความร่วมมือใดๆ แต่ครูใหญ่ก็ไม่ยอมละความพยายาม มุ่งมั่นดำเนินการสร้างโรงเรียนต่อไปด้วยแรงที่มีกับมือสองมือ คนวันหนึ่งที่มีนักเรียนเข้ามาช่วยเหลือ ก็ทำให้ชาวบ้าน ผู้ปกครอง และนักเรียนคนอื่นๆ ทนดูต่อไปไม่ไหว ก็ได้เข้ามาร่วมมือร่วมใจกันสร้างจนประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งนั้นก็มาจากครู ที่ศรัทธาต่อครูใหญ่ท่านนี้ที่เห็นแล้วว่า มีความตั้งใจ มุ่งมั่นเพื่อโรงเรียนอย่างแท้จริง
  6. จากเรื่อง "ทุกๆที่เป็นแหล่งเรียนรู้ได้" การริเริ่มโครงการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ ทำให้ชุมชนเกิดรายได้มีฐานะมั่นคง เกิดอาชีพ ที่สำคัญคือ เกิดทักษะการเรียนรู้แก่ผู้เรียน ผ่านกุศโลบายของครูใหญ่ที่แทรกซึมจากการเสริมแรงด้วยคะแนน การตรวจสอบและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง จากนักเรียน สู่ครอบครัวนักเรียน ตลอดจนครอบคลุมทั้งหมู่บ้านในที่สุด
  7. ผู้นำต้องยึดหลักการพึ่งพาตนเองและความพอเพียง โดยไม่รอให้หน่วยงานใดมาให้ความช่วยเหลือ แต่เมื่อได้ผลสัมฤทธิ์ที่มีคุณภาพ ก็จะทำให้หน่วยงานอื่นๆ ประชาสัมพันธ์และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆเอง
  8. ผู้บริหาร ครู ต้องสร้างทัศนคติต่อนักเรียน ให้อยากมาโรงเรียนและมีความสุข กระตุ้นความกระหายการเรียนรู้ ที่ไม่ได้อยู่แค่ในตำราเท่านั้น
  9. สร้างความสามัคคีให้แก่ชุมชน โรงเรียน และนักเรียนผ่านกระบวนการทางกีฬาสร้างความสัมพันธ์ ที่ไม่ได้มุ่นแต่เอาชนะหรือแพ้ แต่เป็นการสร้างความสัมพันธ์กระชับมิตร ปลูกฝังการมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย 
  10. ผู้นำทางการบริหารโรงเรียน ต้องมีความสามารถในการแสวงหาและระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา อันจะช่วยให้ผู้เรียนได้รับโอกาสในการเข้าถึงการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผลสูงสุดแก่ผู้เรียนให้เป็นผู้เรียนที่มีคุณภาพ
          สุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่าคุณลักษณะและคุณสมบัติของผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำนั้น มีอยู่มากมาย ขึ้นอยู่กับการเลือกนำไปปรับใช้ในสถานการณ์ต่างๆให้เหมาะสม ครูใหญ่ท่านนี้ จึงจัดได้ว่าเป็น "ผู้บริหารที่มีคุณลักษณะและคุณสมบัติของผู้นำที่มุ่มพัฒนาการศึกษาผ่านนวัตกรรมทางความคิด ความอดทน และความพยายามอย่างสร้างสรรค์ ปฏิบัติงานภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ แต่ก็ดำเนินงานได้จนประสบความสำเร็จและได้รับการยกย่องในที่สุด"

เรียบเรียงโดย ครูธงไชย  สันติถาวรยิ่ง
ตำแหน่งครู สพฐ. ศธ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น