วันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

แนวทางการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อการพัฒนาการคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยให้สูงขึ้น

          ปัจจุบันคุณภาพของการศึกษาไทยคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังพัฒนาไปอย่างล้าช้ามาก เมื่อเปรียบเทียบเม็ดเงินงบประมาณมหาศาลที่รัฐจัดสรรให้ในแต่ละปี ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพในระดับนโยบาย ที่ไม่สามารถทำได้จริง จึงส่งผลต่อเนื่องกันมาเป็นลูกโซ่ต่อครู ตลอดจนปลายน้ำที่สำคัญ นั่นคือ ผู้เรียน ซึ่งในขณะนี้ ประเด็นใหญ่ที่ทำให้วงการการศึกษาของไทยตกเป็นจำเลยสังคม คงหนีไม่พ้นผลการประเมินด้านการคิดวิเคราะห์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำนั่นเอง


          ในบทบาทของผู้บริหารสถานศึกษา แนวทางสำคัญแรกเริ่มเพื่อการพัฒนาด้านการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียนให้มีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น จึงอาจต้องเริ่มต้นอย่างเป็นระบบ เช่น เน้นการบริหารในหลากหลายมิติ หรือการสร้างความมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการศึกษา เป็นต้น อีกหนึ่งแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารสถานศึกษา คือ การนำผลการประเมินภายนอกของ สมศ. มาเป็นแนวทางในการพัฒนา กล่าวคือ ผู้บริหารสถานศึกษา ต้องมีภาวะผู้นำในการบริหารจัดการ (Managed Leadership) โดยการดำเนินการจัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ตามกฎกระทรวง ซึ่งยึดหลักการมีส่วนร่วม 8 ประการ ดังนี้

1. การกำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
2. การจัดระบบบริหารและสารสนเทศ
3. การจัดทำแผนพัฒนาสถานศึกษาที่มุ่งเน้นคุณภาพการศึกษา
4. การดำเนินงานตามแผนพัฒนาสถานศึกษา
5. การตรวจสอบและทบทวนคุณภาพการศึกษา
6. การประเมินคุณภาพการศึกษาตามมาตรฐานที่กำหนด
7. การรายงานคุณภาพการศึกษาประจำปี
8. การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

          ทั้งนี้ นอกจากการดำเนินงานตามการจัดระบบประกันคุณภาพภายในแล้ว ในบทสรุปสำหรับผู้บริหาร ของสมศ. จะเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมจุดเด่น เน้นพัฒนาจุดด้อยของสถานศึกษาเพื่อการรองรับการประเมินในครั้งต่อไปได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น เมื่อสมศ.มีข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาสถานศึกษา ในประเด็น ผลการประเมินด้านการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียนอยู่ในระดับต่ำ ผู้บริหารสถานศึกษา จึงควรเร่งสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นดังกล่าว โดยการประชุมหารือเพื่อหาแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน ทั้งนี้ ภาระงานหลักจึงอยู่ที่การพัฒนาครูให้มีทักษะในการใช้เทคนิค วิธีการสอน ที่เน้นการคิดวิเคราะห์เป็นสำคัญ การสร้างแหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในการกำหนดปัญหา เพื่อเน้นให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์แก้ปัญหาต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพได้


          ดังนั้น ผู้บริหารจึงมีความจำเป็นต้องเน้นกระบวนการของการทำงานเป็นกลุ่ม ทำงานอย่างมีระบบ และทุกคนต้องถือเป็นหน้าที่ที่จะปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง การนำข้อมูลสารสนเทศของผู้เรียนนั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาผู้เรียนต่อไป นั่นหมายถึงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ (Strategic Plan) ที่ทุกกิจกรรม / โครงการ ต้องมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การยกระดับคุณภาพผู้เรียนทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการคิดวิเคราะห์ ผู้บริหารต้องส่งเสริมด้านปัจจัย (4M) ให้สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สรรหาให้เพียงพอ ประการสำคัญต้องมีระบบและกลไกการปฏิบัติงานตามแผน รวมทั้งติดตามกำกับการดำเนินงานอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง

ตัวอย่าง การเขียนโครงการพัฒนาผู้เรียนด้านการคิดวิเคราะห์

โครงการ พัฒนาทักษะกระบวนการคิด วิเคราะห์ ด้วยเทคนิค TASs Model

แผนงาน งานบริหารวิชาการ

ผู้รับผิดชอบโครงการ นายธงไชย สันติถาวรยิ่ง

ลักษณะโครงการ โครงการใหม่

ระยะเวลาดำเนินงาน ตลอดปีการศึกษา 2557

หลักการและเหตุผล :
          ในปัจจุบัน จากผลการตรวจสอบคุณภาพผลการประเมินของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปี 2557 พบว่า ด้านการคิดของเด็กไทยยังอยู่ในระดับต่ำ จำเป็นต้องเร่งพัฒนาครูใหม่สามารถจัดกิจกรรม กระบวนการต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาสถานศึกษา และให้สังคมตัวเด็กเป็นเสมือนห้องปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะด้านนี้แก่เด็กไทยให้ได้

          จากผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกรอบสาม จาก สมศ. ของโรงเรียน.... พบว่า ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียนอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ จึงควรเร่งการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาให้ผู้เรียนมีผลการประเมินด้านการคิดวิเคราะห์นี้ให้สูงขึ้น โดยอาศัยกระบวนการ TASs Model นั่นคือ T:Teacher, A:Administrater, S:Student และ s:Stackholder ซึ่งจะต้องสร้างความมีส่วนร่วมและผลักดัน ส่งเสริม พัฒนาอย่างเป็นระบบผ่านกลไกดังกล่าวข้างต้นนี้ อันจะส่งผลต่อกระบวนการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนต่อไป

วัตถุประสงค์
          1. เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์การประเมินด้านการคิด วิเคราะห์ของผู้เรียนให้สูงขึ้น
          2. เพื่อพัฒนางานด้านวิชาการให้เป็นระบบ ยึดหลักการมีส่วนร่วม

ขั้นตอนการดำเนินงาน
          1. ศึกษาสภาพบริบทสถานศึกษา ด้านวิชาการ
          2. วางแผน ประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางการพัฒนา
          3. เสนอโครงการ
          4. ดำเนินการตามโครงการ ประกอบด้วยกิจกรรม ดังนี้
                    4.1 กิจกรรมพัฒนาครูสู่การจัดการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์เป็นสำคัญ
                    4.2 กิจกรรมนักคิดน้อย
                    4.3 กิจกรรมสร้างฝันนักคิด พิชิตปัญหา
                    4.4 กิจกรรมนิเทศ ติดตาม ประเมินผลการพัฒนาการสอน ฯลฯ
          5. วัดและประเมินผลโครงการ
          6. สรุปผลและรายงานผล

เครื่องมือและวิธีการ
          1. แบบประเมินความพึงพอใจ
          2. แบบฝึกทักษะ
          3. แบบบันทึกการสังเกต
          4. ภาพถ่าย ฯลฯ